การเลือกเหล่าทัพของโรงเรียนเตรียมทหาร
แนะแนวการเลือกเหล่าทัพของโรงเรียนเตรียมทหาร
จะเลือกเตรียมทหารเหล่าทัพไหนดี ??
แม้วันสอบคัดเลือกเข้าโรงเรียนเหล่าทัพในปัจจุบันจะกำหนดไว้ไม่ตรงกันเพื่อ เปิด โอกาสให้นักเรียนเลือกสอบได้ทั้งสี่เหล่า แต่นักเรียนที่สอบภาควิชาการผ่านก็ต้องตัดสินใจเลือกเหล่าในรอบที่สอง ซึ่งจะกำหนดวันเวลาไว้ตรงกัน นักเรียนบางคนเลือกสอบเฉพาะเหล่าที่ตนเองชอบจึงไม่มีปัญหา แต่บางคนที่สอบได้ทั้งสี่เหล่าแล้วไม่รู้ว่าจะเลือกเหล่าไหนดี จะสับสนว้าวุ่นใจ เพราะการเลือกเหล่าทัพในวันนี้จะเป็นตัวกำหนดอนาคตอาชีพการงาน ซึ่งมีผลกับทั้งชีวิตเลยทีเดียว นอกเหนือไปจากความชอบและค่านิยมของนักเรียนแต่ละคนแล้ว เหตุผลในการเลือกเหล่าทัพนั้นน่าจะมาจากการพิจารณาถึงลักษณะนิสัยและบุคลิกของตนเองว่าเหมาะสมกับเหล่าทัพไหนเป็นพิเศษ
"คนทั่วไปจะมองว่านักเรียนนายเรือบุคลิกสบายๆ เป็นสุภาพบุรุษชุดขาวที่ใส่ยิ่งช่วยขับให้นักเรียนนายเรือดูสุภาพอ่อนโยน อาจเพราะทำงานอยู่กับน้ำด้วย เลยทำให้ดูทหารเรือใจเย็น ใจดี แต่จริงๆ แล้ว เวลาที่ฝึกก็หนักเหมือนกันทุกเหล่า ในเรื่องวินัยก็จะเคร่งครัดตลอดทั้งปี ไม่มีช่วงไหนที่หนักไปหรือเบาไปเลย"
"ธรรมชาติของทหารเรือที่เห็นได้ชัดก็คือความรักพวกพ้อง รักพี่รักน้องเพราะพวกเราต้องทำงานกันเป็นทีม อยู่ร่วมกันในเรือก็ต้องช่วยเหลือกันตลอดเวลา เราจะทำงานคนเดียวไม่ได้ เพราะเรือรบจะแล่นได้ก็ต้องใช้คนเป็นร้อยไม่ใช่คนเพียงคนเดียว" สุภาพบุรุษในชุดปกติขาวคอพับแขนสั้นหรือชุดขาวน้อยกล่าว เห็นได้ชัดว่านักเรียนนายเรือนั้นต้องชอบเรือ ชอบทะเล และยังต้องทำงานร่วมกับผู้อื่นอีกด้วย เพราะการทำงานเป็นทีมเป็นหัวใจสำคัญของการทำงานบนเรือ "ก่อนสอบ เราก็ต้องถามก่อนว่าเราชอบอะไร เช่น เราชอบทหารเรือไหม ชอบทหารอากาศไหม ชอบทหารบกไหม ถ้าบู๊ ทหารบกก็น่าจะเหมาะ ถ้าอยากเป็นนักบินก็ต้องทัพอากาศ แต่ถ้าเป็นทหารเรือก็มีทางเลือกให้เยอะหน่อย ถ้าใจชอบทะเลอยู่แล้ว เป็นทหารเรืออยู่บนเรือก็ได้ ถ้าอยากเป็นนักบินก็เป็นนักบินทหารเรือก็ได้ หรือถ้าอยากบู๊อย่างทหารบกก็มีหน่วยบู๊คือนาวิกโยธิน แม้แต่ตำรวจก็มีคือตำรวจน้ำได้"
อาจารย์โรงเรียนนายเรือได้ให้คำแนะนำในการเลือกเหล่าทัพเพิ่มเติม โดยได้กล่าวถึงตำรวจน้ำซึ่งถือเป็นทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจ ซึ่งแต่ละปีทางโรงเรียนนายเรือจะรับสมัครนักเรียนเตรียมทหารในส่วนของตำรวจน้ำประมาณ 10 นาย "ตำรวจน้ำเป็นกองหนึ่งของกรมตำรวจซึ่งขึ้นอยู่กับ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เขาจะปฏิบัติหน้าที่ในส่วนของพื้นที่ที่เป็นน้ำ อย่างเช่นแม่น้ำลำคลอง และบริเวณชายฝั่งรอบใน อย่างถ้าคนร้ายลงเรือไปแล้วก็เป็นหน้าที่ของตำรวจน้ำที่ต้องตามจับ ไม่ใช่ทหารเรือ เพราะหน้าที่หลักของทหารเรือคือ รบ ปกป้องอธิปไตย ป้องกันชายแดนเหมือนกับที่มีตำรวจรถไฟ ตำรวจป่าไม้เหมือนแต่ก่อน...." "ทางโรงเรียนนายเรือจะรับสมัครและสอบคัดเลือกเข้ามาพร้อมกับนักเรียนนายเรือซึ่ง ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ฝากกับโรงเรียนนายเรือ ก็ถือว่าเป็นนักเรียนนายร้อยตำรวจ เมื่อจบก็แยกกันไปปฏิบัติหน้าที่ในกองตำรวจน้ำและติดยศเป็นร้อยตำรวจตรี" อาจารย์ ประอร สุนทรวิภาต อธิบายถึงนักเรียนตำรวจน้ำให้เข้าใจได้อย่างกระจ่าง ถือว่าเป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับผู้ที่มีใจรักในอาชีพผู้พิทักษ์สันติราฎษร์
**หากใครชอบทำงาน แบบฉายเดี่ยว หรือทำงานแบบ one man show กองทัพอากาศน่าจะเป็นทางเลือกที่เหมาะสม เพราะการทำงานบนฟ้าในเครื่องบินรบเป็นการทำงานในลักษณะนั้น "เรื่อง เวลาเป็นสิ่งสำคัญที่สุดสำหรับนักเรียนนายเรืออากาศ เราจะถูกฝึกให้รักษาเวลา ตรงต่อเวลาที่สุด เพราะเมื่อปฏิบัติงานจริง หากพลาดไปแม้เสี้ยววินาทีเดียวนั่นอาจหมายถึงชีวิต การตัดสินใจของเราต้องเด็ดขาด ฉับไว จะมารออยู่ไม่ได้ เพราะบนฟ้าทุกอย่างมันเร็วมาก" "บางคนก็บอกว่าบุคลิกนักเรียนนายเรืออากาศจะดูสบายๆ ดูไม่เคร่งเครียด แต่เวลาฝึกหรืออย่างเรื่องระเบียบวินัยของเราก็เคร่งครัดไม่แพ้เหล่าอื่น" เด็กหนุ่มในเครื่องแบบสีเทาฟ้าอธิบาย ดูจากบุคลิก เขาเป็นคนที่คล่องแคล่ว ว่องไวและมีความกระตือรือร้นมาเลยทีเดียว
เมื่อเปรียบเทียบกับบุคลิกของนักรบบนฟากฟ้าอย่างเขาแตกต่างจากนักรบบนพื้นดินอย่างมาก "นัก เรียนนายร้อยโรงเรียนนายร้อย จปร. จะมีกิตติศัพท์ในเรื่องของการฝึกหนัก มีบุคลิกที่เอาจริงเอาจัง เข้มแข็ง เป็นชายชาตินักรบ เพราะพากเขาเมื่อจบไปต้องรับผิดชอบชีวิตลูกน้อง เริ่มต้นก็ต้องไปเป็นผู้นำหน่วย คุมคนกว่า 50 คน ที่เป็นลูกน้องเรา แต่ยังรวมถึงพ่อแม่ญาติพี่น้องของเขาที่รออยู่ข้างหลังด้วย ถ้าเราไม่ฝึกหนัก ไม่เข้มแข็ง ไม่เอาจริง ไม่มีลักษณะผู้นำ เราจะไปนำเขาในสนามรบที่มีแต่ห่ากระสุน ลูกระเบิดได้อย่างไร ในสนามรบจริงๆ นะมันโหดกว่านี้มาก เราก็ต้องไปนำเขาให้ได้ ต้องมีทั้งจิตวิทยา ศิลปะของการเป็นผู้นำและความเฉียบขาดด้วย" อาจเป็น เพราะชุดสีเขียวเข้มที่ขับกับบุคลิกของนักเรียนนายร้อยให้ดูขรึมแม้จะให้สัมภาษณ์ด้วยน้ำเสียงสบายๆ ไม่เครียด แต่ความเอาจริงและความเด็ดขาดก็ฉายออกมาทางแววตา การฝึกหนักเพื่อเตรียมความพร้อมเป็นผู้นำหน่วยทหารหล่อหลอมให้นักเรียนนายร้อยทุกคนมีความรับผิดชอบสูง ทำให้บุคลิกของพวกเขาดูเป็นผู้ใหญ่เกินอายุ (ว่าแก่หรือเปล่าวะนี่) พวกเขาจึงมีความแกร่งกล้า พร้อมสำหรับการเป็นนักรบภาคพื้นดิน
ซึ่งแตกต่างจากงานของผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ "ตำรวจ ต้องมีจิตวิทยาสูง เราต้องเข้าถึงประชาชนให้ได้ทุกชนชั้นครับ คอยแก้ไขปัญหาทุกอย่างให้เขา การทำงานต้องมีจิตวิทยาใช้ทั้งความรู้และปฏิภาณไหวพริบทุกอย่างเลยครับ อย่างเราต้องติดต่อกับประชาชนอยู่ตลอดก็จะเกี่ยวกับการพูดแล้ว หรือหากเกลี้ยกล่อมคนร้ายที่เอามีดจี้คอตัวประกันอยู่ก็ต้องหาวิธีคิดว่าจะ ทำอย่างไร ที่เรียนมานี่ก็ต้องใช้หมดทุกอย่าง" นักเรียนนายร้อยตำรวจ ชั้นปีสุดท้ายบรรยายถึงหน้าที่ในอนาคตของเขา นอกจากคนที่เป็นตำรวจจะต้องมีจิตวิทยาในการปฏิบัติงานแล้ว ยังต้องมีมนุษยสัมพันธ์ทีดีด้วย แน่นอนล่ะธรรมชาติการทำงานและบุคลิกของแต่ละเหล่าทัพย่อมแตกต่างกัน แต่สิ่งหนึ่งที่เหมือนกันก็คือ "ความตั้งใจในการรับใช้ชาติ" ซึ่งถือเป็นปรัชญาสูงสุดของทุกเหล่าทัพ